ข้อมูลที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล

ข้อควรรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล

โลกของของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โซเชียล” ถือเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมต่อทุกใหคนเข้าหากันได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว แถมข้อมูลข่าวสารยังสามารถกระจายไปได้ทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนนิยมติดตามข่าวสารผ่านทางโซเชียลกันมากกว่าช่องทางอื่น ๆ อย่างที่นิยมใช้กันในอดีต เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเลือกที่จะแบ่งปันข้อมูลข่าวสารด้วยการโพสต์ลงโซเชียลของตนเอง เพราะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

แต่ด้วยความที่มันเข้าถึงได้ง่ายนี้เอง ทำให้ โซเชียลฯ กลายเป็นดาบสองคม ที่มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ในคราวเดียวกัน ดังนั้น เราจึงอยากบอกคุณถึง ข้อมูลที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในชีวิตจริงของคุณเอง เพราะการโพสต์สิ่งที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล นอกจากจะแก้ไขกู้คืนกลับมาได้ยากแล้ว ยังอาจส่งผลลัพธ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณได้ตลอดกาลเลยด้วย

1. ภาพหน้าจอของการสนทนาส่วนตัว (Private Conversation Screenshot)
ภาพหน้าจอของการสนทนาส่วนตัว ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า ส่วนตัว ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรแชร์ลงโซเชียลมีเดียที่คนอื่นสามารถเข้าถึงและมองเห็นได้ เพราะถึงคุณจะโพสต์เพื่อเรียกความสนใจ หรือแม้แต่การเรียกยอดไลก์จากคนอื่น ๆ ได้ดีในโพสต์นั้น แต่ไม่นาน ความสนใจนั้นก็จะหายไปอยู่ดี และที่แน่ ๆ เนื้อหาในบทสนทนาส่วนตัวนั้น จะกลายเป็นส่วนรวมทันที ไม่ใช่ส่วนตัวอีกต่อไป แถมถ้าข้อมูลไหนที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ อาจกลายเป็นปัญหาในชีวิตในภายหลังด้วย ดังนั้น หลีกเลี่ยงการโพสต์ไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า

2. การแท็กสถานที่ว่าอยู่ที่ไหน (Check-in Location)
การแท็กสถานที่ว่าอยู่ที่ไหน ถึงแม้ว่าจะดีต่อใจในเวลาที่เราได้มานั่งย้อนดูรำลึกความหลัง และทำให้เราจำได้ว่าเคยไปที่ไหนในเวลาใดมาบ้าง แต่การที่คุณไม่ได้โพสต์แบบส่วนตัวไว้ดูคนเดียว แต่แบ่งปันให้คนอื่นได้รับรู้ด้วยนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไหร่ เพราะเราไม่รู้ว่าบนโลกโซเชียลที่เราโพสต์ไป มีใครที่ไม่หวังดีกับเราแฝงอยู่ในเงามืดบ้าง การที่เราแท็กสถานที่ว่าไม่ได้อยู่ที่บ้าน อาจทำให้โจรที่รอเวลาเหมาะ ๆ อยู่ บุกเข้าบ้านเราได้ทันที หรืออาจทำให้พวกโรคจิตที่ชอบแอบติดตามชีวิตเรา (Stalker) ตามหาเราเจอได้จากที่อยู่ที่ติดแท็กไว้

3. กำหนดการของทริปถัดไป (Your Trip Plans)
ถึงแม้คุณจะอยากบอกให้โลกรู้แค่ไหนว่าฉันกำลังจะได้ไปเที่ยว แต่การแชร์กำหนดการของทริปถัดไปลงในโซเชียล อาจไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ ซึ่งจริงอยู่ว่าการที่คุณบอกว่าจะไปโน่นไปนี่แบบกว้าง ๆ เช่น ไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ไม่ทำให้คุณโดนตามตัวเจอได้ แต่นั่นหมายความว่า คุณกำลังบอกเหล่าโจรที่กำลังรอโอกาสขึ้นบ้านอย่างเป็นนัย ๆ อยู่ว่า “เฮ้ ฉันกำลังจะไม่อยู่บ้านนะ” ดังนั้น ถ้าคุณจำเป็นที่จะต้องแชร์กำหนดการกับเพื่อนร่วมเดินทางผ่านโซเชียลจริง ๆ ล่ะก็ ควรส่งเป็นการส่วนตัวผ่านทางข้อความหรือทางโทรศัพท์ ดูจะเป็นอะไรที่ปลอดภัยกว่า

ข้อมูลที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล

4. รูปถ่ายบัตรเครดิตของคุณ (Your Credit Card Picture)
คาดว่าหลายคนน่าจะพอรู้อยู่แล้วว่า การลงรูปถ่ายบัตรเครดิต บนโซเชียลนั้น ไม่สมควรโพสต์ลงในโลกโซเชียลไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะข้อมูลที่อยู่บนหน้าบัตรเครดิต ถือเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญส่วนตัวของคุณด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าคุณจะเห่อบัตรเครดิตใบใหม่แค่ไหน แต่ก็ควรรู้ไว้ด้วยว่า แค่มีเลขบัตรเครดิตและวันหมดอายุบนหน้าบัตรที่ปรากฎบนรูป ก็เพียงพอแล้วสำหรับการให้คนอื่นนำไปช้อปปิ้งได้อย่างสบายใจด้วยวงเงินของตัวคุณเอง

5. ข้อมูลทางการเงิน (Financial Information)
ข้อมูลทางการเงิน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยอย่างยิ่งไม่ว่าคุณจะยากดีมีจนแค่ไหนก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวเลขการเงิน หรือยอดเงินคงเหลือในบัญชี จะไม่ได้ดูเป็นสิ่งที่ระบุตัวตนอะไรมากมาย แต่บางครั้ง การมีเลขบัญชีติดมา หรือการพูดถึงทรัพย์สินที่คุณมีอยู่ ก็สามารถทำให้เหล่าแฮคเกอร์สามารถปลอมตัวเป็นคุณ แล้วเข้าถึงบัญชีและทรัพย์สินที่คุณโพสต์ลงในโซเชียลได้ และยังไม่นับว่าจะมีเพื่อนร่วมโซเชียลที่เห็นคุณฐานะดีแล้วจะแสดงตัวเข้ามาขอหยิบยืมเงิน (ที่มีโอกาสได้คืนต่ำ) ด้วยอีกต่างหาก ดังนั้น ควรเก็บข้อมูลทางการเงินไว้เป็นเรื่องส่วนตัวจะดีที่สุด

6. ข้อมูลส่วนตัวของคุณ (Your Personal Information)
ข้อมูลส่วนตัวของคุณ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ส่วนตัว ดังนั้น ถ้าคุณโพสต์ลงในโซเชียลเมื่อไหร่ มันก็จะไม่ใช่สิ่งที่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป ถึงแม้ว่าคุณจะไปเจอโพสต์ใดโพสต์หนึ่งบนโลกโซเชียล ที่บอกให้คุณทิ้งชื่อ ที่อยู่ พร้อมเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ เพื่อชิงโชครางวัลใหญ่ แม้โพสต์นั้นจะมาจากหน่วยงานหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม แต่รางวัลใหญ่ที่คุณจะได้ อาจเป็นสิ่งที่เลวร้ายแบบที่คุณคาดไม่ถึง เพราะบรรดามิจฉาชีพสามารถฉกฉวยข้อมูลของคุณไปใช้ พร้อมสวมรอยเป็นคุณได้ทันทีอย่างแนบเนียน แถมยังอาจจะเจอคนโรคจิตประกบชีวิตของคุณให้ด้วยอีกต่อ

สำหรับใครที่ระบุข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวไว้ในหน้าโปรไฟล์ เราขอแนะนำให้คุณตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ที่ Only Me จะปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าบัญชีโซเชียลของคุณ บังคับให้ต้องแสดงไว้จริง ๆ ล่ะก็ ลงรายละเอียดให้กว้าง ๆ ไว้ เช่น กทม. ประเทศไทย ลงเบอร์โทรศัพท์ปลอม อะไรแบบนี้จะปลอดภัยกว่า ถ้าคุณยังไม่อยากให้คนที่คุณไม่คาดคิด ตามมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน

7. ข่าวสารต่าง ๆ ของเพื่อนคุณ (Your Friends’ Stuff)
ในส่วนของข่าวสารต่าง ๆ ของเพื่อนคุณ ในที่นี้หมายถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เพื่อนโพสต์หรือบอกกล่าว ไม่ว่าจะทั้งแบบส่วนตัวหรือในโซเชียล ถึงแม้ว่าจะเป็นข่าวดีที่น่าตื่นเต้น เช่น กำลังจะแต่งงาน มีลูก ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ หากเพื่อนของคุณไม่ได้ไหว้วานให้คุณช่วยแชร์หรือกระจายข่าวต่อแล้วล่ะก็ คุณไม่ควรแชร์ข่าวลงโซเชียลโดยพลการ เพราะถ้าเพื่อนของคุณอยากแบ่งปันเรื่องของเขาให้คนอื่นรู้แล้วล่ะก็ ให้เขาเลือก (บุคคล) ที่จะแชร์เองดีกว่านะ

8. ความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับที่ทำงานหรือสถานศึกษา (Negative Comment of your Workplace or School)
ความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับที่ทำงานหรือสถานศึกษา เป็นสิ่งที่ใครหลายๆคนอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะอยู่ในประเด็นที่ไม่ควรโพสต์ด้วย ไม่ว่าโลกโซเชียลของคุณจะดูปลอดภัยแค่ไหน มีคนรู้จักหรือคนสนิทน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า โลกกลม คือคำที่ใช้ได้เสมอ แม้คุณจะไม่มีเพื่อนในโซเชียลเป็นเจ้านาย, หัวหน้า, ครูอาจารย์, หรือใครก็ตามที่เข้าข่าย แต่การโพสต์ความเห็นในแง่ลบลงโซเชียลนั้น เป็นการเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจคุณออกมา และทำให้เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับคุณ สบโอกาสในการแคปเจอร์ (Capture) หน้าจอ แล้วเอาไปฟ้องคนที่คุณเอ่ยถึงได้ง่าย ๆ และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นถูกไล่ออกเอาได้

9. ความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับการเมือง (Political Comments)
เมื่อพูดถึงความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับการเมืองนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราห้ามคุณไม่ให้โพสต์ในเรื่องนี้ หากแต่คุณจะต้องมั่นใจเสียก่อนว่า ข้อมูลหรือความเห็นที่คุณโพสต์ลงไปในโซเชียลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีหลักฐาน ไม่ได้เป็นข่าวเลื่อนลอยที่ถูกกุขึ้นมาโดยไม่ทราบแหล่งที่มาของข่าวที่ชัดเจน เพราะการที่คุณโพสต์อะไรบางอย่างลงโซเชียล โพสต์นั้นจะเป็นตัวตนของคุณเสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น ถ้าคุณโพสต์ความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับการเมือง แล้วปรากฎว่าความเห็นนั้น ๆ มาจากข่าวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วล่ะก็ คุณจะมีสิทธิ์โดนทัวร์ลงเอาได้ง่าย ๆ พ่วงด้วยการผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่ถ้ามั่นใจว่าถูกต้องแล้วล่ะก็ การโพสต์ความเห็นทางการเมือง ก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคุณเองตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครห้ามได้แน่นอน

10. ข่าวลือ และข่าวปลอมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น (False or Untrue Statements about Someone)
การโพสต์ข่าวลือและข่าวปลอมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นบนหน้าโซเชียลของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่คุณตัดสินใจยืมมือของสิ่งที่เรียกว่า โซเชียลมีเดีย มาเป็นเครื่องมือในการแก้แค้นใครสักคนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งความแค้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันถูกเผยแพร่ลงในโลกโซเชียลไปแล้ว มันจะลุกลามเร็วกว่าที่คุณคาดคิดเอาไว้มาก แถมยังไม่สามารถคาดเดาและควบคุมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยว่า มันจะอยู่ในขั้นเบา ๆ แค่เป็นที่ขบขันของชาวเน็ต หรือลุกลามใหญ่โตจนทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ซึ่งในปัจจุบัน การฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้นทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่เรากลับพบเห็นเรื่องแบบนี้จนมันแทบจะกลายเป็นสิ่งที่หาเจอได้จากข่าวในทุก ๆ วัน หนึ่งในสาเหตุที่มักถูกระบุลงในข่าว คือการถูกกดดันและถูกบุลลี่ (Bullying) จากโลกโซเชียล จนทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ mosheimmansion.com

 

Releated